744 จำนวนผู้เข้าชม |
หากพูดถึงการวางแผนการเงินแล้วภาพรวมอาจจะค่อนข้างกว้าง ทำให้หลายท่านอาจจะนึกภาพไม่ออก ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร ต้องวางแผนเรื่องไหนก่อน ซึ่งเราจะมาสรุปการวางแผนการเงิน การเรียงลำดับความสำคัญก่อนหลัง ของการวางแผนการเงิน เพื่อทำความเข้าใจที่ง่ายขึ้นด้วย ปิรามิดทางการเงินกันครับ
การจัดสรรรายได้จาก 100% โดยแบ่งเป็นเงินออมและลงทุน 10%-30% ซึ่งเงินก้อนแรกที่ควรมี คือ เงินสำรองฉุกเฉิน 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน ส่วนภาระหนี้สินรวมไม่ควรเกิน 35%-45% (หนี้สินที่ไม่รวมหนี้บ้าน ไม่ควรเกิน 15%-20% เช่น หนี้รถ หนี้ผ่อนสินค้า)
ส่วนที่ 1 : Wealth Protection หรือ Risk Management ปกป้องเงินของเราจากความเสี่ยง
หลายคนคิดอยากได้แต่ผลกำไรตอนลงทุน แต่ไม่ได้คิดเรื่องความเสี่ยงก่อน ชีวิตคนเรามีความเสี่ยงตลอดเวลา ก่อนลงทุนควรจะจัดการความเสี่ยงเสียก่อน ดังนั้นการจัดการความเสี่ยง จะต้องตรวจสอบว่าความเสี่ยงอะไรบ้างที่จะกระทบกับการเงินของเรา แม้จะมีโอกาสเกิดน้อย แต่ถ้าเกิดแล้วจะกระทบหนัก เช่น ค่าซ่อมรถจากเหตุการณ์รถชนรุนแรง เกิดเป็นโรคร้ายแรงเช่น มะเร็ง โรคหัวใจ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ หรือ ไฟไหม้บ้าน เราจะต้องมีแผนสำรองเพื่อรองรับเหตุการณ์เหล่านั้น
ส่วนที่ 2&3 : Wealth Accumulation & Investment เก็บเงินลงทุนทำให้เงินเพิ่ม
โดยการแบ่งเงินออมมาบริหารการลงทุน เงินเฟ้อจะทำให้ค่าเงินของคุณลดลงในอนาคต ดังนั้นคุณจะต้องรู้จักลงทุนในความเสี่ยงที่คุณรับได้ และตามเป้าหมายทางการเงินที่คุณมีอยู่ คนส่วนใหญ่ไม่ได้บริหารเงินโดยแยกเป็นเป้าหมายทางการเงินเป็นส่วนๆ เช่น เป้าระยะสั้น ไม่เกิน 3 ปี, ระยะกลาง 3-7ปี และระยะยาว 7ปีขึ้นไป โดยเฉพาสำหรับวางแผนเกษียณอายุ ทำให้การลงทุนไม่ได้ถูกจัดพอร์ตให้เหมาะสมกับเป้าหมายทางการเงินนั้นๆ สำหรับคนที่ลงทุนยังไม่เก่ง ก็อาจจะเริ่มจากซื้อกองทุนไปก่อน แล้วค่อยๆ ศึกษาการลงทุนก่อนจะลงทุนด้วยตัวเอง
ส่วนที่ 4 : Wealth Transfer ส่งต่อให้ทายาท
ข้อดีของการวางแผนมรดก คือ การทำพินัยกรรม และประกันชีวิต เพื่อส่งต่อทรัพย์สินให้กับทายาท หรือบุคคลที่เราต้องการมอบทรัพย์ให้ได้รับอย่างถูกต้อง ครบถ้วน ลดปัญหาความขัดแย้งในอนาคต ทำให้เรามั่นใจว่าทุกอย่างเป็นไปตามความประสงค์ของเราอย่างแท้จริง
ส่วนที่ 5 : Tax การวางแผนภาษี
คือ การวางแผนในส่วนของเงินได้พึงประเมินแต่ละประเภท คาดการณ์เงินได้ที่รับเข้ามาในปีภาษีนั้น ๆ รวมถึงค่าลดหย่อนที่ควรรู้ และผลิตภัณฑ์การเงินต่าง ๆ ที่สามารถนำมาลดหย่อนได้